28 กรกฎาคม วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

พระราชประวัติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

พระราชสมภพ

วันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 เมื่อเวลา 17 นาฬิกา 45 นาที ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชโอรสเพียงพระองค์เดียว ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชสมภพ ตรงกับ วันจันทร์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 9 ปีมะโรง จัตวาศก อธิกวาร จุลศักราช 1314 นับเป็นปีที่ 7 แห่งการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
พระนามเมื่อแรกประสูติว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร
ขณะเมื่อทรงพระราชสมภพนั้น  ประชาชนชาวไทยทั้งประเทศที่เฝ้ารอคอยพระประสูติการต่างปลาบปลื้มปีติ ชื่นชมโสมนัส แซ่ซ้องในพระบุญญาธิการ ดังที่ ศาสตราจารย์หม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล ได้บรรยายถึงบรรยากาศก่อนเวลาเสด็จพระราชสมภพ ตราบจนถึงนาทีอันเป็นมงคลฤกษ์ว่า  “…วันนี้ ครึ้มฟ้าครึ้มฝนตั้งแต่เช้า  ฝนไม่ได้ตกมานาน  นายแพทย์ผู้ถวายการประสูติเข้าประจำที่สักครู่ก็ประสูติพระราชกุมาร เวลา 17 นาฬิกา กับ 45 นาที ในนาทีเดียวกันนั้นเอง ฝนที่แล้งมาตลอดฤดูก็เริ่มโปรยปรายละอองลงมา ดูคล้ายๆ ฟ้าก็รู้เห็นเป็นใจกับการประสูติครั้งนี้  อารามดีใจสมประสงค์ของดวงใจทุกๆ ดวง  นายแพทย์ที่ถวายการประสูติ  ซึ่งพร้อมที่จะบอกแก่ที่ประชุม ณ พระที่นั่งอัมพรสถานว่า พระราชโอรส หรือ พระราชธิดา กล่าวออกมาด้วยเสียงอันตื่นเต้นกังวานว่า ผู้ชาย แทนที่จะว่า พระราชโอรส ฝนโปรยอยู่ตลอดเวลา แตรสังข์ดุริยางค์เริ่มประโคม ทหารบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบาร มีปืนใหญ่ทั้งบกและเรือยิงสะเทือนเลื่อนลั่น เสียงไชโยโห่ร้องก็ดังอยู่สนั่นหวั่นไหว สมใจประชาชนแล้ว…ดวงใจทุกดวงมีความสุข…”  นับแต่นั้นมา ประชาชนชาวไทยต่างเฝ้าติดตามข่าวเกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ ด้วยความจงรักภักดี และต่างปลาบปลื้มปีติ ชื่นชมโสมนัสยิ่งขึ้นเมื่อพระองค์ทรงเจริญพระชันษา มีพระสุขภาพพลานามัยแข็งแรง เพียบพร้อมด้วยพระราชจริยวัตรและพระปรีชาสามารถเป็นที่ประจักษ์ตลอดมา

สมเด็จพระยุพราช

              วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ปวงชนชาวไทยต่างปลาบปลื้มปีติยินดีเป็นอย่างยิ่งอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระบรมราชโองการประกาศสถาปนา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ ขึ้นดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มีพระนามาภิไธย ตามจารึกพระสุพรรณบัฎว่า

               “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร”

ในมงคลวาระนั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณในการพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งแสดงถึงน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงมุ่งมั่นจะบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อชาติบ้านเมือง และประชาชนชาวไทย เป็นที่ซาบซึ้งประทับใจพสกนิกรยิ่ง ดังความว่า

               “ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานกระทำสัตย์ปฏิญาณสาบานต่อประเทศชาติและประชาชนชาวไทยเฉพาะพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เฉพาะพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ท่ามกลางสันนิบาตนี้ว่า ข้าพเจ้าผู้เป็น สยามมกุฎราชกุมาร จะรักษาเกียรติยศและอิสริยศักดิ์ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานไว้ด้วยชีวิต จะภักดีต่อชาติบ้านเมือง จะซื่อสัตย์ต่อประชาชน จะปฏิบัติภาระหน้าที่ทุกอย่าง โดยเต็มกำลังสติปัญญาความสามารถ และโดยความเสียสละ เพื่อความเจริญสงบสุขและความมั่นคงไพบูลย์ของประเทศไทย จนตราบเท่าชีวิตร่างกายจะหาไม่”

การศึกษา

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงได้รับการศึกษาระดับอนุบาลศึกษาที่พระที่นั่งอุดรภาค พระราชวังดุสิต และทรงเข้ารับการศึกษาระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา โรงเรียนจิตรลดา ระหว่าง พ.ศ. 2499-2505 ทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษระหว่าง พ.ศ. 2509-2513 หลังจากนั้นได้ทรงศึกษาระดับเตรียมทหารที่โรงเรียนคิงส์ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย

พ.ศ. 2515 ทรงเข้าศึกษาในวิทยาลัยการทหารชั้นสูงที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา หลักสูตรของวิทยาลัยการทหารแห่งนี้แบ่งออกเป็น 2 ภาค คือ ภาควิชาการทหาร รับผิดชอบและดำเนินการโดยกองทัพบกออสเตรเลีย ส่วนอีกภาคหนึ่งเป็นการศึกษาวิชาสามัญ ระดับปริญญาตรี โดยมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์รับผิดชอบวางหลักสูตร ทรงเลือกศึกษาในสาขาวิชาอักษรศาสตร์ ทรงสำเร็จการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2519

สำหรับการศึกษาทางการทหาร พ.ศ. 2519 ทรงเข้ารับการฝึกเพิ่มเติมและทรงศึกษางานด้านการทหารในประเทศออสเตรเลีย และทรงประจำการ ณ กองปฏิบัติการทางอากาศพิเศษที่นครเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย นอกจากนี้ ยังทรงศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบกหลักสูตรประจำชุดที่ 5-6 ระหว่าง พ.ศ. 2520-2521 และทรงได้รับปริญญานิติศาสตรบัณฑิต(เกียรตินิยมอันดับ 2) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อ พ.ศ. 2531 ครั้นถึง พ.ศ.2533 ทรงเข้ารับการศึกษา ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรแห่งสหราชอาณาจักรด้วย

นอกจากนี้ ยังทรงศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบกหลักสูตรประจำชุดที่ 5-6 ระหว่าง พ.ศ. 2520-2521 และทรงได้รับปริญญานิติศาสตรบัณฑิต(เกียรตินิยมอันดับ 2) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อ พ.ศ. 2531 ครั้นถึง พ.ศ.2533 ทรงเข้ารับการศึกษา ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรแห่งสหราชอาณาจักรด้วย

กาลเวลาผ่านไปได้เป็นที่ประจักษ์ว่า  ตลอดระยะเวลานับแต่ยังทรงพระเยาว์ตราบจนปัจจุบัน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงยึดมั่นในพระปฏิญญา ทรงพระวิริยอุตสาหะ มุ่งมั่นปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อประเทศชาติและประชาชนชาวไทย โดยมิได้ย่อท้อ ดังปรากฏว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่อาณาประชาราษฎร์  เมื่อยังทรงพระเยาว์ ได้โดยเสด็จพระบรมชนกนาถและสมเด็จพระบรมราชชนนี ไปในการเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศตลอดมา ทรงสั่งสมพระประสบการณ์เกี่ยวกับบ้านเมืองและราษฎร ดังนั้น จึงทรงปฏิบัติพระราชภารกิจได้เป็นผลสำเร็จลุล่วง นับตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เช่น เมื่อพระชนมพรรษา 11 พรรษา ได้ทรงนำกองลูกเสือสำรองโรงเรียนจิตรลดาเข้าร่วมพิธีสวนสนาม ลูกเสือไทย ณ สนามกีฬาแห่งชาติ และเมื่อทรงพระเจริญวัยได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านต่างๆ นานัปการ ทั้งที่ทรงปฏิบัติแทนพระองค์ และทรงปฏิบัติในส่วนพระองค์เอง พระราชกรณียกิจทั้งปวงล้วนมีการสร้างสรรค์ความผาสุกสงบแก่ประชาชน นำความเจริญไพบูลย์และความมั่นคงมาสู่ประเทศ เช่น ด้านการแพทย์และสาธารณสุข การศึกษา การศาล การสังคมสงเคราะห์ การพระศาสนา การต่างประเทศ การศึกษา ฯลฯ

ขอบคุณข้อมูลจาก : Kapook.com.  (2561).  ๒๘ กรกฎาคม วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ ๑๐.  เข้าถึงได้จาก https://king.kapook.com/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *