ประวัติความเป็นมา
ปี 2511 ห้องสมุดวิทยาลัยช่างกลปทุมวัน เริ่มจัดตั้งเป็นครั้งแรกที่อาคารตึกอำนวยการหลังเก่า ซึ่งมีเนื้อที่ในการดำเนินงานประมาณ 240 ตารางเมตร ลักษณะของห้องเป็นพื้นที่โล่งชั้นเดียวมีหนังสือภาษาไทยและภาษาต่างประเทศประมาณ 2,000 เล่ม การจัดหมวดหมู่ใช้ระบบทศนิยมของดิวอี้
(Dewey Decimal Classification : D.C) โดยมีนางสุวรรณา ภักดีชาติ เป็นหัวหน้างานห้องสมุด ทำหน้าที่ควบคุมดูแล และมีเจ้าหน้าที่ให้บริการจำนวน 1 คน และปี 2514 ห้องสมุดได้ย้ายไปอยู่ที่ชั้น 2
ของอาคารอำนวยการหลังเก่า และได้ดำเนินงานตลอดจนถึง พ.ศ.2527
ปี 2528 ห้องสมุดมีวัสดุและครุภัณฑ์เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก สถาบันฯ จึงให้ย้ายไปที่อาคารพระประกอบกลกิจ ชั้น 5 ซึ่งมีพื้นที่ให้บริการครู อาจารย์ และนักศึกษาได้มากขึ้น และในปีนี้มีบุคลากรเพิ่มขึ้น รวมทั้งหมด 6 คน
ปี 2540 สถาบันเทคโนโลยีปทุมวันได้รับงบประมาณในการสร้างอาคารหลังใหม่ คือ
“อาคารเฉลิมพระเกียรติ” และดำริให้บริเวณชั้น 5 ของอาคารนี้เป็นห้องสมุด โดยมีเนื้อที่ 1,250 ตารางเมตร ลักษณะของห้องสมุดเป็นพื้นที่โล่ง การจัดพื้นที่ภายในห้องสมุดจะจัดตามรูปแบบผังการออกแบบโดยแบ่งเป็นสัดส่วน ได้แก่ ห้องอ่านหนังสือทั่วไปและวารสาร ห้องบริการสื่อมัลติมีเดีย ห้องหนังสืออ้างอิง และห้องเก็บปริญญานิพนธ์ และพื้นที่ในการบริการผู้ใช้ ได้มากกว่า 150 ที่นั่ง โดยมีนางพรทิพย์
รัตกสิกร เป็นหัวหน้างานห้องสมุด และมีบรรณารักษ์รวมทั้งหมด 3 คน
ปี 2541 ห้องสมุดได้นำระบบการจัดหมวดหมู่การจัดหมู่หนังสือระบบหอสมุดรัฐสภาอเมริกัน (Library of Congress Classification System : LC) มาจัดเก็บทรัพยากรสารสนเทศของห้องสมุดแทนระบบการจัดหมวดหมู่เดิม โดยได้รับความร่วมมือจากนักศึกษาที่เรียนในวิชาสารนิเทศและการศึกษา
ปี 2549 ได้นำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรสารสนเทศ
โดยได้จัดซื้อโปรแกรมระบบห้องสมุดอัตโนมัติ จำนวน 2 ระบบ คือ ระบบจัดเก็บและวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศ และระบบฐานข้อมูลบาร์โค๊ด เพื่อจัดเตรียมข้อมูลทรัพยากรสารสนเทศให้สามารถสืบค้น และยืม-คืนได้แบบอัตโนมัติ
ปี 2551-2555 ได้จัดเก็บทรัพยากรสารสนเทศในฐานข้อมูลหนังสือจำนวน 24,555 เล่ม ฐานข้อมูลปริญญานิพนธ์จำนวน 1,538 เล่ม วารสารภาษาไทยและภาษาต่างประเทศที่ได้รับงบประมาณในการจัดซื้อ และได้รับบริจาคจากหน่วยงานภายนอก จำนวน 150 ชื่อเรื่อง หนังสือพิมพ์รายวัน 5
ชื่อเรื่อง เทปเพื่อการศึกษา 160 ม้วน สื่อมัลติมีเดียด้านความบันเทิง จำนวน 396 เรื่อง และสื่อมัลติมีเดียด้านวิชาการ จำนวน 1,146 เรื่อง และผู้ใช้บริการสามารถสืบค้นข้อมูลทรัพยากรสารสนเทศได้ทางอินเตอร์เน็ตทางออนไลน์จากเว็บไซต์ http://library.tasanee.com/ โดยได้รับความอนุเคราะห์จากบริษัท ทัศนีย์ แอสโซซิเอส จำกัด ในการใช้ฐานข้อมูลสืบค้น และฐานข้อมูลการยืม-คืน
ปีงบประมาณ 2556 ห้องสมุดได้รับจัดสรรเงินงบประมาณในการจัดซื้อระบบบริหารจัดการห้องสมุดของ บริษัท ทัศนีย์ แอสโซซิเอส จำกัด จำนวน 1 ระบบ เพื่อใช้ในการดำเนินงานจัดการทรัพยากรสารสนเทศให้เป็นระบบโดยสามารถเข้าใช้งานการสืบค้นหน้า WEB OPAC ได้ที่ http://library.pit.ac.th/
ปี 2558 งานห้องสมุดได้เปลี่ยนชื่อเป็นสำนักห้องสมุด อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักวิจัยและบริการวิชาการ ตามประกาศสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน เรื่อง การแบ่งส่วนราชการภายในสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน พ.ศ. 2558
ปี 2559 ห้องสมุดได้ย้ายสำนักงานมายังอาคารกรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ ชั้น 2 เป็นอาคารชั่วคราว โดยเริ่มเปิดให้บริการ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2559 ซึ่งอาคารอำนวยการหลังเก่าอยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงเป็นสำนักห้องสมุด
ปี 2565 สำนักห้องสมุดได้เปลี่ยนชื่อเป็นฝ่ายห้องสมุด อยู่ภายใต้การกับดูแลของกองพัฒนานักศึกษา สำนักงานอธิการบดี ตามประกาศสถาบันเทคโนโลยีปทุมวันเรื่อง การแบ่งส่วนราชการภายในสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน พ.ศ. 2565
ห้องสมุดทำหน้าที่จัดหา รวบรวม วิเคราะห์หมวดหมู่ จัดเก็บ และนำทรัพยากรสารสนเทศทุกประเภทออกให้บริการในรูปของสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโสตทัศน์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ นโยบาย และหลักสูตรการเรียนการสอนของสถาบัน เพื่อให้สามารถจัดและให้บริการห้องสมุดและสารสนเทศในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ บริการช่วยการค้นคว้าสารสนเทศจากทรัพยากรสารสนเทศทุกประเภท บริการค้นสารสนเทศจากฐานข้อมูลต่าง ๆ บริการรวบรวมบรรณานุกรม บริการการอ่านภายในห้องสมุด บริการยืม-คืน การจัดบริการจะครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายในส่วนกลาง
วิสัยทัศน์ ปรัชญา ปณิธาน และวัตถุประสงค์
วิสัยทัศน์
พัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการสนับสนุนการเรียนการสอนของสถาบันด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการสืบค้นข้อมูลทรัพยากรสารสนเทศ และเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลระดับอุดมศึกษาในประเทศโดยไม่จำกัดเวลา และสถานที่
ปรัชญา
คุณภาพวิชาการนำหน้า เพิ่มพูนปัญญา สู่การพัฒนาสังคม
ปณิธาน
บริการด้วยจิตสำนึกที่ดีในการสนับสนุนการเรียนการสอนให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล
วัตถุประสงค์
1) เพื่อเป็นแหล่งรวมความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการสนับสนุนการเรียนการสอนทุกสาขาวิชาที่สอดคล้องกับหลักสูตรของสถาบัน
2) เพื่อจัดเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการสืบค้นทรัพยากรสารสนเทศที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ใช้
3) เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับสถาบันอุดมศึกษาในประเทศโดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่
4) เพื่อสร้างจิตสำนึกที่ดีในการบริการให้เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผล